การแต่งกายประจำภาคใต้
การแต่งกายประจำภาคใต้
ภูมิหลัง
ดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทย อันประกอบด้วย 14 จังหวัดนั้น แต่เดิมมีผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนต่อมาได้พัฒนาเกิดเป็นชุมชนและกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญ อันเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างดินแดนตะวันออกและตะวันตกของโลก ซึ่งเป็นแหล่ง แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่สำคัญโดยเฉพาะประเทศจีน อินเดีย และหมู่เกาะสุมาตรา เรียกดินแดนแห่งนี้กันว่าอาณาจักรศรีวิชัย
อิทธิพลในการทอผ้าจากอินเดีย ที่มีการสอดผสมดิ้นเงินดิ้นทอง ลงในผืนผ้าสร้างรูปแบบแก่ผ้าในภาคใต้ โดยซื้อหาวัสดุส่วนใหญ่จากอินเดีย ต่อมาเนื่องจากศึกสงคราม บ้านเมือง ล่มสลายลงการทอผ้าอันวิจิตรก็สูญหายไปด้วย โดยต่อมาภายหลังหันมานำเข้าผ้าพิมพ์ และผ้าแพรจากจีนรวมถึงผ้าบาติกจากเกาะชวา และ ผ้ายุโรปมาสรวมใส่
จากการที่ชาวใต้มิได้มีการปลูกฝ้ายหรือไหมขึ้นใช้เอง เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ จึงทำการ สั่งซื้อผ้าสำเร็จรูปโดยเฉพาะผ้าบาติก หรือปาเต๊ะมาใช้กันจนภายหลังเป็นเครื่องแต่งกาย ประจำภาคไปในที่สุด
ปัจจุบันแหล่งทำผ้าแบบดั้งเดิมนั้นเกือบจะสูญหายไป คงพบได้เฉพาะ 4 แหล่งเท่านั้นคือ ที่ตำบลพุมเรี้ยง จังหวัดสุราษฎร์ธานี , อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช , เกาะยอ จังหวัดสงขลา และตำบลนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง
การแต่งกายของชาวใต้
การแต่งกายนั้นแตกต่างกันในการใช้วัสดุ และรูปแบบโดยมีเอกลักษณ์ไปตามเชื้อชาติ ของผู้คนอันหลากหลายที่เข้ามาอยู่อาศัยในดินแดนอันเก่าแก่แห่งนี้พอจำแนกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้
1. กลุ่มเชื้อสายจีน – มาลายูเรียกชนกลุ่มนี้ว่ายะหยา หรือ ยอนย่า เป็นกลุ่มชาวจีน เชื้อสายฮกเกี๊ยนที่มาสมรสกับชนพื้นเมืองเชื้อสายมาลายู ชาวยะหยาจึงมีการแต่งกายอันสวยงาม ที่ผสมผสาน รูปแบบของชาวจีนและมาลายูเข้าด้วยกันอย่างงดงาม ฝ่ายหญิงใส่เสื้อฉลุลายดอกไม้ รอบคอ,เอว และปลายแขนอย่างงดงาม นิยมนุ่งผ้าซิ่นปาเต๊ะ ฝ่ายชายยังคงแต่งกาย คล้ายรูปแบบจีนดั้งเดิมอยู่
2. กลุ่มชาวไทยมุสลิมชนดั้งเดิม ของดินแดนนี้นับถือศาสนาอิสลาม และมี เชื้อสายมาลายู ยังคงแต่งกายตามประเพณี อันเก่าแก่ฝ่ายหญิงมีผ้าคลุมศีรษะ ใส่เสื้อผ้ามัสลิน หรือลูกไม้ตัวยาวแบบมลายูนุ่งซิ่นปาเต๊ะ หรือ ซิ่นทอแบบมาลายู ฝ่ายชายใส่เสื้อคอตั้ง สวมกางเกงขายาว และมีผ้าโสร่งผืนสั้น ที่เรียกว่า ผ้าซองเก็ต พันรอบเอวถ้าอยู่ บ้านหรือลำลองจะใส่โสร่ง ลายตารางทอด้วยฝ้าย และสวมหมวกถักหรือ เย็บด้วยผ้ากำมะหยี่
3. กลุ่มชาวไทยพุทธชนพื้นบ้าน แต่งกายคล้ายชาวไทยภาคกลาง ฝ่ายหญิงนิยมนุ่งโจงกระเบน หรือ ผ้าซิ่นด้วย ผ้ายกอันสวยงาม ใส่เสื้อสีอ่อนคอกลม แขนสามส่วน ส่วนฝ่ายชายนุ่งกางเกงชาวเล หรือ โจงกระเบนเช่นกัน สวมเสื้อผ้าฝ้ายและ มีผ้าขาวม้าผูกเอว หรือพาดบ่าเวลาออกนอกบ้านหรือไปงานพิธี
4. กลุ่มราชสำนักสยาม เนื่องจากผ้าทอ ทางภาคใต้นั้นมีชื่อเสียงในความงดงามและ ประณีตดั้งนั้นกลุ่มเจ้านาย ในราชสำนักตั้งแต่ อดีตของไทยจึงนิยม นำผ้าทอจากภาคใต้ โดยเฉพาะผ้ายกเอามาสวมใส่เป็นผ้าซิ่น และผ้าโจงกระเบน โดยใส่เสื้อหลากหลายแบบ ส่วนใหญ่จะนิยมแบบยุโรป
ประเภทของผ้าทอที่มีชื่อเสียงของภาคใต้
ผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราช
เป็นผ้าที่ทอยกโดยการสอดดิ้นเงิน และดิ้นทองสลับไหมอันวิจิตร ผลิตใช้สำหรับ ราชสำนักไทย
ผ้ายกทองของนครศรีธรรมราชนั้น ขึ้นชื่อในความละเอียด ลวดลายแปลกโดยสามารถทำหน้ากว้างได้ถึง 70-80 ตระกรอ โดยผ้าขนาด 12 เขานั้นต้องใช้คนทำถึง 3 คน ในอดีตใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการสู่ราชสำนัก สืบมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี จวบจนกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่การทอจะได้รับอุปภัมถ์จากเจ้าเมือง โดยนำรูปแบบและช่างทอจากอินเดียมาช่วยสอนอีกด้วย
ผ้ายกพุมเรียง
ชาวตำบลพุมเรียงอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎ์ธานี เป็นชาวมุสลิม ที่หนีภัยสงครามมาจากเขาหัวแดง จังหวัดสงขลา จากปัตตานี และไทรบุรี ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ผ้ายกจะมีสันสดใสฝีมือประณีต ที่มีชื่อเสียงคือผ้ายกหน้านาง ผ้ายกดอกถมเกสร และดอกลายเชิง เป็นต้น
ผ้ายกเกาะยอ
เป็นผ้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลา เดิมคงอพยพหนีสงครามมาจากเขาหัวแดง มาอยู่ที่เกาะยอเนื่องจากวัสดุในการทอต้องสั่งซื้อจากต่างถิ่น จึงทำให้การทอผ้ายกของเกาะยอมีปัญหา จนเกือบสูญหายไป เพิ่งมาได้รับการส่งเสริมขึ้นอีกครั้งเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยการใช้กี่กระตุกแทนกี่เตี้ย แบบดั้งเดิม
ผ้ายกปัตตานี
เมืองปัตตานีเคยเป็นเมืองท่านานาชาติที่สำคัญตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวจีน , อินเดีย และเปอร์เซีย ที่หนีการปกครองของ ชาวโปรตุเกสจากเมืองมาลัคกา โดยนำเทคนิค การทอผ้า หลายหลากชนิดมาเผยแพร่ จนผสมผสานขึ้นโดยมีรูปแบบอัน เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง จากสัญลักษณ์ทางศาสนาอิสลาม เข้ามาใช้ในลวดลายผ้า อย่างงดงาม
ผ้ายกปัตตานี เดิมเรียกว่าผ้าซอแก๊ะ ผ้ามัดหมี่ เรียกว่าผ้าอีกัด ผ้าไหมยกตระกรอ เรียกว่า ผ้าการะดูวอ เป็นต้น
ผ้ายกปัตตานี ที่ทอยกทองนั้น ภายหลังได้สูญหายไป คงเหลืออยู่บ้างก็คือ ผ้าจวนตานีหรือผ้า ล่วงจวน ซึ่งเป็นผ้ามัดหมี่ อันมีลักษณะพิเศษ โดยเฉพาะ
ผ้าพานช้าง
เป็นผ้าขิดใช้เป็นผ้ากราบพระ ผ้าเช็ดหน้า หรือเช็ดน้ำหมาก ทอยาวติดกัน เพื่อใช้ในพิธีทางศาสนาของชาวตำบลบ้านนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง แต่ละชิ้นมักเป็นรูป สี่เหลี่ยมจัตุรัส ขิดด้วยสีดำ , น้ำเงิน , ฟ้า , เขียว ทอเป็นลายครุฑ , คน และนกยูง สลับตัวหนังสือโคลงกลอนคติธรรมสอนใจ บางครั้งใช้ในพิธีศพ โดยเมื่อเสร็จพิธีแล้วจะนำมาตัดแบ่ง แจกกันในครอบครัวลูกหลานหรือถวายพระเพื่อเป็นสิ่งรำลึกสืบไป
" ปัจจุบันชาวใต้ยังคงสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมในการถักทอผืนผ้าซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษในอดีตให้ปรากฏเป็นสิ่งทออันล้ำค่าอันสืบสาน
และโยงใยไปถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีตกาลของดินแดนแห่งนี้เพื่อให้คงอยู่กับผืนแผ่นดินไทยสืบต่อไป ชั่วกาลนาน"
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก นิทรรศการ "อลังการแห่งผ้าไทย" 12 เดือน
ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จัดทำเมื่อเดือน ธันวาคม 2551